; โรคเบาหวาน (Diabetes mellitus) -โรงพยาบาลแมคคอร์มิค เชียงใหม่ McCormick Hospital ChiangMai

โรคเบาหวาน (Diabetes mellitus)

เบาหวาน คืออะไร

       เบาหวาน คือ ความผิดปกติของร่างกายที่มีการผลิตฮอร์โมนอินซูลินไม่เพียงพอ ส่งผลทำให้ระดับน้ำตาลในกระแสเลือดสูงหรือต่ำเกินไป จนทำให้เกิดภาวะฉุกเฉินต่อร่างกาย โรคนี้มีความรุนแรง สืบเนื่องมาจากการที่ร่างกายไม่สามารถใช้น้ำตาลได้อย่างเหมาะสม โดยปกติน้ำตาลจะเข้าสู่เซลล์ร่างกายเพื่อใช้เป็นพลังงานภายใต้การควบคุมของฮอร์โมนอินซูลิน  ในผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวานจะไม่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผลที่เกิดขึ้นทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น ในระยะยาวจะมีผลในการทำลายหลอดเลือด ถ้าหากไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม อาจนำไปสู่สภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงได้



อาการผู้ต้องสงสัย ว่าเป็นเบาหวาน

       1. หิวบ่อย
       2. ปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะมาก
       3. กระหายน้ำ
       4. น้ำหนักลด
       5. อ่อนเพลีย ไม่มีแรง
       6. ติดเชื้อบ่อย ๆ ซ้ำ ๆ
       8. ตาพร่ามัว

  

ผู้ที่มีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดเบาหวาน

       1. ผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป
       2. มีญาติสายตรง คือ พ่อ แม่ พี่ น้อง คนใดคนหนึ่งเป็นโรคเบาหวาน
       3. โรคอ้วนและน้ำหนักเกิน ซึ่งส่งผลให้เซลล์ต่างๆดื้อต่ออินซูลิน
       4. ไม่ออกกำลังกาย เพราะการออกกำลังกายจะช่วยควบคุมน้ำหนัก และช่วยให้เซลล์ต่าง ๆ ไวต่อการนำน้ำตาลไปใช้ หรือช่วยการเผาผลาญน้ำตาลในเลือดได้ดีนั่นเอง
       5. มีประวัติเคยตรวจระดับน้ำตาลในเลือดสูงผิดปกติ หรือเคยตรวจพบความทนต่อน้ำตาลบกพร่อง แต่ยังไม่ถึงเกณฑ์เป็นเบาหวาน
       6. เคยเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ หรือเคยคลอดบุตร มีน้ำหนักแรกคลอดมากกว่า 4 กิโลกรัม
มีภาวะความดันโลหิตสูง (มากว่า 140/90 มิลลิเมตรปรอท)
       7. มีระดับไขมันในเลือดผิดปกติ (ค่าเอชดีแอล มีน้อยกว่าหรือเท่ากับ 40 มิลลิเมตรต่อเดซิลิตร และหรือไตรกลีเซอร์ไรด์มีค่ามากกว่าหรือเท่ากับ 150 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร)

แพทย์วินิจฉัยเบาหวานได้อย่างไร

       แพทย์วินิจฉัยโรคเบาหวานได้จากประวัติอาการ ประวัติการเจ็บป่วยต่าง ๆ ประวัติของคนในครอบครัว การตรวจร่างกาย ที่สำคัญคือการตรวจเลือดเพื่อดูปริมาณน้ำตาลในเลือด และดูสารที่เรียกว่าฮีโมโกลบินเอวันซี ซึ่งค่าปกติของน้ำตาลในเลือดหลังงดน้ำและอาหารอย่างน้อย 8 ชั่วโมงค่า FBS (Fasting Blood Sugar) ต้องน้อยกว่า 110 มิลลิกรัม/เดซิลิตร และค่า HbA1C น้อยกว่า 6.5%



 รักษาเบาหวาน ได้อย่างไร 

       แนวทางการรักษาโรคเบาหวาน ต้องควบคู่กันไประหว่างการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต  การใช้ยา และการรักษาควบคุมโรคร่วมต่าง ๆ หรือโรคที่เป็นปัจจัยเสี่ยง การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต คือการลดน้ำหนัก ควบคุมน้ำหนัก ลดอาหารแป้ง น้ำตาล และไขมัน เพิ่มอาหารประเภทผัก และออกกำลังกายสม่ำเสมอตามควรกับสุขภาพ ส่วนการใช้ยาจะอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ ซึ่งมีทั้งยากินและยาฉีดอินซูลิน รวมทั้งยาต่าง ๆ ที่ใช้รักษาโรคร่วมต่าง ๆ เช่น การรักษาควบคุม โรคความดันโลหิตสูงและภาวะไขมันในเลือดสูง เป็นต้น
       โรคเบาหวานเป็นโรคเรื้อรังที่จัดว่ารุนแรง เป็นโรคที่รักษาไม่หาย ซึ่งความรุนแรงของโรคขึ้นกับผลของการควบคุมโรคได้ คือการควบคุมน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ หรือใกล้เคียงปกติที่สุด 
       ดังนั้นผู้ป่วยเบาหวาน จึงต้องรักษาควบคุมโรคตลอดชีวิต ซึ่งการจะควบคุมโรคได้ดี ผู้ป่วยต้องปฏิบัติตามแพทย์/พยาบาลแนะนำอย่างถูกต้องเคร่งครัดและไม่ขาดยา